๑.
มีหมู่บ้านหนึ่ง ผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากไม่น้อย
ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
บ้างประมงน้ำจืด หรือรับจ้างทั่วไป

ทุกเช้า เหล่าคนวัยทำงานทั้งหลายต่างออกจากบ้านไปทำหน้าที่ของตน
ส่วนคนเฒ่าคนแก่ คอยดูแลลูกเด็กเล็กแดงอยู่ที่บ้าน

ทุกคนล้วนดำเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิม
เรียบง่าย เผื่อแผ่ และเอื้ออาทร
ทุกคนมีความสุข ทุกมื้อได้อิ่มหนำ กับครอบครัวที่อบอุ่น

๒.
วันหนึ่ง มีพ่อค้าคนหนึ่งเข้ามาในหมู่บ้าน
ชาวบ้านทุกคนล้วนให้การต้อนรับเป็นอย่างดี
ตามวิสัยคนมีน้ำใจ และไร้เล่ห์เหลี่ยม

พ่อค้าเมื่อได้เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านที่รายล้อมไปด้วยทรัพยากรอุดมสมบูรณ์
หัวการค้าอันฉลาดล้ำ ก็คิดคำนวณ
บวก ลบ คูณ หาร ออกมาเป็นตัวเลข
เขาติดต่อพ่อค้าจากหมู่บ้านอื่น ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมอาชีพที่รู้จัก
เพื่อปรึกษาหารือ หวัง 'กอบโกย' ผลประโยชน์จากทรัพยากรในหมู่บ้าน

ไม่กี่วันต่อมา ด้วยความรวดเร็วทันใจ
เขานำหลายสิ่งหลายอย่างเข้ามาในหมู่บ้าน
และบอกกับชาวบ้านว่า
มันจะทำให้พวกท่านมีกินมากขึ้น มีใช้มากขึ้น
และที่สุด ทุกคนจะมีความสุขมากขึ้น

๓.
หลังจากวันนั้น วิถีชีวิตของชาวบ้านก็เปลี่ยนไป
ความเรียบง่ายกลายเป็นความวุ่นวาย
การเผื่อแผ่กลายเป็นแก่งแย่งแข่งขัน
มีข้าวกิน แต่ไม่พออิ่ม
มีบ้านอยู่ แต่ไร้ความอบอุ่นอาทร
ความสุขที่เคยมีไม่มีใครมองเห็นคุณค่า

เพราะพวกเขาสนใจความสุขที่มากกว่า
แต่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นยังไง?

ทางด้านพ่อค้ามองดูความวุ่นวายด้วยความอิ่มเอม
เพราะมันสามารถทำให้เขากอบโกยได้อย่างไร้ขีดจำกัด

๔.
เมื่อความวิกฤติถึงขีดสุด (ใกล้ความวิบัตินิดเดียว)
มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงด้วยความห่วงใย
ลุกขึ้นมากระชากหน้ากากของพ่อค้า'จอมโฉด'
ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
หลายคนเห็นความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
และพร้อมใจกันกำจัดสิ่งแปลกปลอม

แต่อนิจจา พ่อค้าไหวตัวทัน
ดันหนีไปหลบซ่อนตัวที่หมู่บ้านอื่น

ชาวบ้านทั้งหลายหันกลับมาใช้ชีวิตปกติอีกครั้ง
แต่ สายน้ำไหลไปไม่หวนกลับฉันใด
วิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนย่อมไม่หวนคืนฉันนั้น
น่าประทับใจตรงที่ทุกคนก็ยังพร้อมใจกันพยายาม!

๕.
วันเวลาผ่านไป
เรื่องราวครั้งเก่าก่อนดูเหมือนจะลางเลือนไปตามกาลเวลา
พ่อค้าได้ย้อนกลับมาอีกครั้ง
น่าแปลก ที่ชาวบ้านก็ยังเต็มใจต้อนรับเขาเช่นเคย

แต่น่ากลัวแท้
เขากลับมาคราวนี้ เขาได้พกพาบางสิ่งติดตัวมาด้วย
นั่นคือ กระต่ายขูดมะพร้าว!!!


และตั้งแต่นั้นมา นกเอี้ยงก็ไม่เคยไปเลี้ยงควายอีกเลย!!!!!!!
ในเรื่องราว:
0 Responses

แสดงความคิดเห็น